ชะอม (Climbing Wattle, Acacia)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Acacia pennata (L.) Willd. มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ เช่น ผักหละ (ภาคเหนือ), อม (ภาคใต้), ผักขา (ภาคอีสาน อุดรธานี), พูซูเด๊าะ (แม่ฮ่องสอน), โพซุยโดะ (กะเหรี่ยง) เป็นต้น โดยผักชะอมมีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้
ชะอมมีรสมัน มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ เป็นไม้พุ่มขนาดย่อม ลำต้นและกิ่งก้านจะมีหนามแหลม ส่วนลักษณะของใบชะอม เป็นใบประกอบสีเขียวขนาดเล็ก มีก้านใบย่อยแตกออกจากแกนกลางใบ มีลักษณะคล้ายกับใบส้มป่อยหรือใบกระถิน ใบอ่อนจะมีกลิ่นฉุน ใบย่อยมีขนาดเล็กออกตรงข้ามกัน คล้ายรูปรีประมาณ 13-28 คู่ ปลายใบแหลมขอบใบเรียบ ใบย่อยจะหุบในเวลาเย็น และแผ่ออกเพื่อรับแสงในช่วงกลางวัน ส่วนดอกชะอม มีขนาดเล็กออกตามซอกใบ มีสีขาวถึงขาวนวล
คุณค่าทางโภชนาการของยอดชะอม 100 กรัม
พลังงาน 57 กิโลแคลอรี
เส้นใยอาหาร 5.7 กรัม
ธาตุแคลเซียม 58 มิลลิกรัม
ธาตุฟอสฟอรัส 80 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 4.1 มิลลิกรัม
วิตามินเอ 10066 IU
วิตามินบี1 0.05 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.25 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 1.5 มิลลิกรัม
วิตามินซี 58 มิลลิกรัม
ประโยชน์ของชะอม
ชะอมช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากมีวิตามินเอสูง ยอดชะอมช่วยลดความร้อนในร่างกายได้ มีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันโรคท้องผูก
รากชะอมนำมาฝนกินช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง และช่วยขับลมในลำไส้ มีส่วนช่วยบำรุงเส้นเอ็น ช่วยแก้อาการลิ้นอักเสบเป็นผื่นแดง
ช่วยฟื้นฟูผมแห้งเสีย แตกปลาย ด้วยสูตรน้ำชะอมหมักผม เพียงแค่นำใบชะอมประมาณ 1 กำมือมาต้มกับน้ำเปล่า 3 ถ้วย จนได้น้ำชะอมเข้มข้นกรองเอาแต่น้ำ เมื่อสระผมเสร็จให้นำมาผ้าขนหนูมาชุบน้ำชะอมที่เตรียมไว้ บิดพอหมาด นำมาเช็ดผมให้ทั่ว แล้วทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีแล้วล้างออก จะช่วยทำให้ผมแห้งๆ กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
นำมาทำเป็นเมนูอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ไข่ชะอม ไข่ทอดชะอม ชะอมชุบไข่ แกงส้มชะอมกุ้ง แกงส้มชะอมไข่ นำมาลวกหรือนึ่งใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก น้ำพริกกะปิ รับประทานร่วมกับส้มตำมะม่วง ตำส้มโอ หรือจะนำไปปรุงเป็นแกงรวมกับปลา เนื้อ ไก่ กบ เขียด หรือต้มเป็นอ่อม ทำแกงลาว แกงแค เป็นต้น
*ข้อควรระวัง
สำหรับคุณแม่ที่เพิ่งมีบุตรอ่อน ไม่ควรรับประทานผักชะอม เพราะจะทำให้น้ำนมแม่แห้งได้ สำหรับคุณแม่ลูกอ่อนอาจจะแพ้กลิ่นของผักชนิดนี้อย่างมาก
การรับประทานผักชะอมในหน้าฝน อาจจะมีรสเปรี้ยว กลิ่นฉุน บางครั้งอาจทำให้มีอาการปวดท้องได้ (ปกตินิยมรับประทานผักชะอมหน้าร้อน)
กรดยูริกเป็นตัวการที่ทำให้เกิดข้ออักเสบในผู้ป่วยโรคเกาต์ ซึ่งเกิดมาจากสารพิวรีน (Purine) โดยผักชะอมนั้นก็มีสารพิวรีนในระดับปานกลางถึงระดับสูง ผู้ป่วยโรคเกาต์สามารถรับประทานได้ แต่ควรรับประทานในปริมาณที่จำกัด หากเป็นมากก็ไม่ควรรับประทาน เพราะจะทำให้ปวดกระดูกได้
อาจพบเชื้อก่อโรคอย่าง ซาลโมเนลลา (Salmonella) ซึ่งเป็นเชื้อที่สามารถพบได้ทั่วไปในสภาพแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ อากาศ เมื่อเรานำผักชะอมที่ปนเปื้อนสารชนิดนี้มาประกอบอาหารโดยไม่ล้างทำความสะอาดหลายๆครั้ง หรือไม่ได้นำมาปรุงให้สุกก่อนรับประทาน อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อชนิดได้ โดยผู้ที่ได้รับเชื้อชนิดอาจจะมีอาการท้องเสีย ปวดท้อง ถ่ายเหลวเป็นน้ำสีเสียว หรือถ่ายเป็นมูกมีเลือดปน มีไข้ เป็นต้น ดังนั้นจึงควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์เดออะแดนดอทคอม, สถาบันการแพทย์แผนไทย, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
รีวิว
ยังไม่มีบทวิจารณ์