คะน้า (Chinese Kale) มีลำต้นตั้งตรง แข็งแรง อวบใหญ่สีเขียวนวล สูง 20-30 เซนติเมตร ใบจะแตกออกจากลำต้นเรียงสลับกัน ผิวใบมีลักษณะเป็นคลื่น ผิวมัน สีเขียวอ่อนถึงเขียวแก่ ยอดมีลักษณะเป็นใบอ่อนขนาดเล็ก 2-3 ใบ
การใช้ประโยชน์ของคะน้ามักจะนำส่วนของลำต้น ก้านใบ และใบมาประกอบอาหาร สามารถกินได้ตั้งแต่ต้นยังมีขนาดเล็กจนกระทั่งออกดอก สารสีเขียวในผักคะน้ามีคุณสมบัติในการต่อต้านการเกิดมะเร็ง ช่วยให้เซลล์ทำงานดีขึ้น ช่วยในเรื่องของการขับถ่าย กำจัดสารพิษตกค้าง และช่วยลดอาการภูมิแพ้ต่างๆ นอกจากสารสีเขียวแล้ว ผักคะน้ายังมีคุณค่าทางโภชนาการและประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย คะน้ามีวิตามินหลายชนิด เช่น บีตา-แคโรทีน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และยังมีวิตามินซีช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อให้ชุ่มชื้น และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันโรคมีความแข็งแรงสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีแคลเซี่ยมช่วยเสริมสร้างกระดูก
คุณค่าทางโภชนาการ
คะน้าดิบปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 31 กิโลแคลอรี และประกอบด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้
น้ำ 92.1 กรัม โปรตีน 2.7 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม คาร์โบไฮเดรต 3.8 กรัม เส้นใย 1.6 กรัม
แคลเซียม 245 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 80 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 1.2 มิลลิกรัม เบต้า-แคโรทีน 2512 ไมโครกรัม วิตามินเอ 419 iu.
วิตามินบี1 0.05 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.08 มิลลิกรัม ไนอะซิน 1.0 มิลลิกรัม วิตามินซี 147 มิลลิกรัม
- ข้อควรระวัง
ไม่ควรรับประทานคะน้าแบบดิบ เพราะคะน้ามี สารกอยโตรเจน (Goitrogen) ซึ่งอยู่ในกลุ่มสารที่ขัดขวางการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ ทำให้ร่างกายนำไอโอดีนไปใช้สร้างฮอร์โมนธัยรอกซินได้น้อยกว่าปกติ หรือทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำยิ่งขึ้น การได้รับคะน้าในปริมาณมากเกินไปอาจจะทำให้เกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ร่างกายขาดแร่ธาตุไอโอดีน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคคอพอก และยังไปยับยั้งการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์อีกด้วย ควรนำปรุงคะน้าให้สุกก่อนรับประทานเพื่อลดปริมาณสารกอยโตรเจนลง
รีวิว
ยังไม่มีบทวิจารณ์