เกษตรกรรุ่นใหม่ – ตอนที่ 1

เกษตรกรรุ่นใหม่

การขับเคลื่อนภาคเกษตรในช่วงของแผนฯ 12 ให้ความสำคัญกับการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้สามารถปรับตัวได้เท่าทันสถานการณ์ สามารถเป็นผู้นำ การเปลี่ยนแปลงในการปรับโครงสร้างฐานความรู้ของเกษตรกรส่วนใหญ่ เชื่อมโยงข้อมูลและความรู้ทางวิชาการเพื่อการตัดสินใจ ไปสู่การวิเคราะห์และช่วยกันสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับท้องถิ่น ที่สำ คัญต้องเชื่อมโยงเกษตรกรในกลุ่มที่ยากต่อการปรับตัวด้วยตนเองให้สามารถปรับตัวได้

เกษตรกรยุคใหม่จึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ภาคเกษตรของไทยก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องเผชิญเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้มากขึ้น ทีมงานจัดทำวารสารฯ ได้เดินทางไปสัมภาษณ์ คุณกันตพงษ์ แก้วกมล ประธานเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ประเทศไทย (Young Smart Farmer Thailand : YSF) ณ บ้านพักตำบลบางรักน้อย อำเภอเมือง จังหวัด นนทบุรี เพื่อพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่เครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ บทบาทของ YSF และแนวคิดของการพัฒนาเพื่อวางรากฐานภาคเกษตรกรรมไทยไปสู่ยุคใหม่ที่มีความก้าวหน้า เข้มแข็ง และสามารถพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง

เส้นทางสู่การเป็นเกษตรกร

post1-Oat

กันตพงษ์ แก้วกมล ชื่อเล่น “โอ๊ด” สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยศรีปทุม และกำลังศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาการจัดการเกษตรอินทรีย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) เป็นลูกหลานเกษตรกรแท้ๆ ดั้งเดิมปู่กับย่าทำสวนทุเรียนที่จังหวัดนนทบุรีบนพื้นที่ 20 ไร่ล้มลุกคลุกคลานกับอุทกภัยมาตลอด กันตพงษ์เคยทำงานมาหลายอาชีพ ทั้ง Garment จัดสวนทำโฆษณา และ Graphic Designer แต่การเดินทางไปทำงานยังบริษัทใช้เวลาวันละชั่วโมงครึ่ง ไปกลับ 3 ชั่วโมง ไม่ตอบโจทย์ชีวิต จึงผันตัวเองจากการทำงานประจำมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว โดยเริ่มตัดสินใจไม่ทำเกษตรแนวเดิม หันมาทำเกษตรผสมผสานตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ตั้งแต่ปี 2536

จุดเริ่มต้นของการก้าวสู่เครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer : YSF)

post1-oat

ผมเริ่มเข้ามาเป็นเครือข่าย Young Smart Farmer ตั้งแต่ปี 2558 โดยเริ่มจากการเป็นเกษตรกรคลื่นลูกใหม่ (New Wave Farmer) ซึ่งในตอนนั้นผมทำหน้าที่เป็นแกนนำของจังหวัด ต่อมาเครือข่ายนี้ก็หายไป พอมาถึงยุคนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ฟื้นฟูขึ้นใหม่ใช้ชื่อเป็น Young Smart Farmer (YSF) ผมได้เข้ามาเป็นประธานของจังหวัดในปี 2558 และได้เป็นประธานเขต 1 (ทั่วประเทศมีทั้งหมด 9 เขต) และในปี 2559 เป็นประธานเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ของประเทศไทย (Young Smart Farmer Thailand) โดยมีหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน เชื่อมโยงภาคีต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้กับทาง YSF เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการทำดการเกษตร (การผลิต แปรรูป และจำหน่าย) กระจายงานให้กับสมาชิก และเป็นวิทยากรกระบวนการให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรแนวใหม่ให้กับเกษตรกรในเครือข่าย

การรวมกลุ่ม Young Smart Farmer ช่วยให้มีเครือข่ายเรียนรู้ช่วยเหลือกันและกัน

การเข้ารวมกลุ่ม YSF มีประโยชน์ช่วยให้เกษตรกรมีเครือข่ายเรียนรู้ มีเพื่อนแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการขยายตลาดให้กว้างขึ้น นอกจากนี้พอเรามีปัญหาอะไร เพื่อนจะช่วยเพื่อน เครือข่าย YSF มีการจัดกิจกรรมประมาณ 2 เดือนครั้ง เรียกว่าการสัญจรไปเยี่ยมบ้านเพื่อนในระดับจังหวัดและระดับเขต ซึ่งเขต 1 ประกอบด้วย 9 จังหวัด เราจะนัดกันว่าจะไปจังหวัดอะไร ไปเรียนรู้ ไปดูบ้านเพื่อนว่าเขาทำอะไร แล้วถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน แต่ละพื้นที่มีอะไรดีในการขายหรือในการหาวัตถุดิบ เมื่อก่อนอยู่คนเดียวไม่รู้ว่าต้องซื้อมูลวัวที่ไหน หาซื้อฟางที่ไม่ฉีดยาจากที่ไหน พันธุ์ไม้ที่ไหนถูก พอมาอยู่ตรงนี้เราจะมีโอกาสมากในการสั่งของ สั่งปัจจัยการผลิตที่ถูกลงไปเยอะเลย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะตัวผมนะ ทั้งเครือข่ายได้ประโยชน์ด้วย

จากเครือข่ายเกษตรกรสู่การรวมตัวอย่างเข้มแข็ง

การรวมตัวเป็นเครือข่าย YSF สามารถพัฒนาให้มีความเข้มแข็งได้โดยการจัดตั้งองค์กรที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้เกิดการยอมรับจากภาครัฐ ผมกำลังมองว่าเมื่อ YSF โตเกินกว่าระดับเครือข่าย คำว่าเครือข่ายยังหลวมๆ อยู่แต่เมื่อ YSF รวมเป็นองค์กรที่เป็นนิติบุคคล จะยกระดับขึ้นอีกขั้นหนึ่ง อาจจะเป็นในรูปของบริษัท หรือสหกรณ์ หรือวิสาหกิจ ที่มีระบบบัญชี ตรวจสอบได้ มีความชัดเจน มีที่มาที่ไป และสินค้ามีความน่าเชื่อถือจะมีมากขึ้นรวมถึงโอกาสการได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐจะมีมากขึ้นด้วย ที่ผ่านมาการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากยังไม่เกิดประโยชน์จริงๆ และไม่ลงสู่เกษตรกรโดยตรง อาจเป็นเพราะว่าเกษตรกรไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการของรัฐตั้งแต่แรกรวมถึงไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้เกษตรกรรับทราบ

การพัฒนาไปสู่เกษตรกรรมยุคใหม่ยังมีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง

การพัฒนาไปสู่ภาคการเกษตรยุคใหม่ ยังมีจุดอ่อนที่เป็นปัญหาอุปสรรคและต้องแก้ไขปรับปรุงวิธีคิดและการทำงานของทั้งภาครัฐและทั้งเกษตรกรเอง เกษตรกรส่วนหนึ่งยังคุ้นชินกับการพึ่งพานโยบายจากภาครัฐ ส่งเสริมอะไรไปก็ผลิตกันจนล้นตลาด ปัญหาคือเกษตรกรไม่รู้เรื่องการทำแผนธุรกิจ การทำกำไร ขาดทุน การประเมิน การหาจุดคุ้มทุน จะใช้เครื่องจักรอย่างไร ให้เกิดประสิทธิภาพ หรือต้องลงทุนอะไร ด้านการบริหารจัดการฟาร์ม (Farm Management) เกษตรกรยังไม่ค่อยรวมตัวกัน ทำให้ขาดพลังในการจัดการ ผลผลิต แต่ก็มีบางกลุ่มที่สามารถจัดการได้ดี เช่น กลุ่มผูกปิ่นโตข้าว เขาขายข้าวล่วงหน้า ปลูกข้าวยังไม่ทันโต ขายไปหมดแล้ว นอกจากนั้นเกษตรกรควรจะทำการแปรรูปผลไม้เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิต ในส่วนของภาครัฐนโยบายหรือการสั่งการเป็นแนวดิ่งจากบนลงล่าง (Top down) การทำโครงการจึงไม่ตอบโจทย์เพราะเกษตรกรไม่มีสิทธิ์เลือกเลยว่าต้องการอะไร ข้าราชการควรจะลงพื้นที่ เป็นพี่เลี้ยง คลุกคลีกับเกษตรกร แล้วมาคุยกันว่าเกษตรกรอยากได้อะไรอยากทำอะไร และต้องเปิดใจรับฟังความคิดเห็น แล้วมาตัดสินใจตกผลึกร่วมกัน ถือเป็นฉันทามติร่วมกันจึงจะทำงานร่วมกันได้

เรื่องของภูมิปัญญา นวัตกรรม และการเคารพสิทธิบัตรเป็นจุดอ่อนของภาคการเกษตรประเทศไทยเช่นกัน อย่างเช่น ที่ออสเตรเลีย นาย ก ผสมพันธุ์มะม่วง A + B เป็นมะม่วง C จดสิทธิบัตรแล้วก็เป็นของนาย ก คนอื่นจะไปปลูกก็ต้องขอใช้สิทธิบัตรและใช้ชื่อพันธุ์ของนาย ก แต่ของบ้านเราจดไปก็เท่านั้น คือ ไม่ใช่ว่าการจดสิทธิบัตรของบ้านเราไม่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ใช้วิธีเปลี่ยนชื่อ และหรือนำพันธุ์ไปปลูกต่างถิ่นแล้วตั้งชื่อใหม่จึงต้องมีระบบที่อ้างถึงสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ซึ่งทำให้พืชพันธุ์เดียวกันอาจจะมีรสชาติต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับความต่างทางภูมิศาสตร์ รวมถึงแร่ธาตุในดินสภาพอากาศ แสงแดด น้ำ ชั่วโมงแสงแต่ละวัน คือ สามารถใช้ชื่อพันธุ์เหมือนกันแต่เพิ่มการบ่งบอกถึงแหล่งปลูก

ปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่

oat

การเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่สิ่งสำคัญคือ ต้องอดทนและใฝ่รู้ เช่น ต้องศึกษาว่าในพื้นที่ทำอะไรได้บ้าง รู้ดิน น้ำ ลม ไฟ ต้องรู้พื้นที่ของตนเอง ดินเป็นอย่างไร ความชื้นดีหรือไม่ ฝนตกปีละเท่าไร แหล่งน้ำมีหรือไม่ อากาศเป็นอย่างไร ความปลอดภัยเป็นอย่างไร มีภัยพิบัติหรือไม่ น้ำท่วมหรือเปล่า แล้วจะป้องกันอย่างไร เรียกได้ว่า “องค์ความรู้” ด้านต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญในการทำ งาน

นอกจากเรื่ององค์ความรู้ต่างๆ แล้ว เกษตรกรรุ่นใหม่ต้องก้าวทันเทคโนโลยีปัจจุบัน อยากรู้อะไรก็สามารถหาดูได้ง่าย เช่น ดูจาก Youtube และ Google เป็นต้น นอกจากนั้นยังสามารถทำการตลาดแบบออนไลน์ ถ้าเราไม่มีหน้าร้านหรือต้องเช่าหน้าร้านขายของอาจจะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่อยู่หน้าจอ ทำตลาดออนไลน์ มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาก คนรุ่นใหม่ต้องช่วยคนรุ่นเก่าให้ก้าวทันเทคโนโลยีผมเชื่อว่ายังมีหลายคนที่บันทึกเบอร์โทรศัพท์ไม่เป็น และยังไม่ใช้ไลน์ (Line) หรือสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ

 

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การมีเครือข่ายการสื่อสาร การรวมกลุ่มกันบริหารจัดการเพื่อช่วยเหลือกันในเรื่องการผลิต การแปรรูป เพื่อลดต้นทุน และขยายตลาดให้กว้างขวางขึ้น เกษตรกรต้องมีเครือข่าย ทำเครือข่ายให้กว้างมีการสื่อสารความรู้เรื่องของปัจจัยการผลิต ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ การรวมกันผลิตหลายๆ แปลงเพื่อให้เป็นแปลงใหญ่ การใช้เครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องจักรร่วมกัน ถูกกว่าที่จะซื้อใช้คนเดียว อย่างโดรนราคา 4 – 5 แสนบาทดูเหมือนว่าแพง แต่จริงๆ แล้ว ถ้ารวมกลุ่มกันบริหารจัดการให้ดี ต้นทุนจะถูก สามารถคืนทุนได้ มันคือนวัตกรรม เรื่องของการแปรรูปก็ต้องรวมกลุ่มกัน อย่างเช่นที่ประเทศออสเตรเลีย ทำเป็นที่แปรรูปส่วนกลาง เพราะผลไม้ไม่ได้ออกอย่างเดียวตลอดปี ให้นำมาเข้าสายการผลิต คือมาใช้ร่วมกัน เครื่องจักรก็ไม่ถูกทิ้งว่าง ถ้าสามารถทำให้การแปรรูป การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาสินค้าอยู่ที่จุดเดียว ครบวงจร ยิ่งจะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้เกษตรกร แต่แบบนี้ยังไม่เกิดขึ้นเด่นชัดในประเทศไทย

การทำเกษตรผสมผสานช่วยลดความเสี่ยง แต่ผมคิดว่าเกษตรกรอาจจะปลูกพืชอย่างเดียวก็ได้นะ แต่ต้องมีเครือข่าย และรู้จักแปรรูป อย่างผมไม่ได้ปลูกมัน แต่สามารถนำมันจากไร่ของเพื่อนมาแปรรูป เป็นบัวลอยมัน ซาลาเปามัน ขายดีมากมูลค่ามันก็สูงขึ้น ทำข้าวห่อใบบัวก็ดีมาก คือเอาบัวจากแปลงที่ปลอดสารจริงๆ เอาข้าวมาจากชัยนาท เอาไข่เค็มมารวมกัน ทำคล้ายๆ บ๊ะจ่าง อย่างนี้คือการเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งที่เราทำซึ่งสามารถต่อยอดไปเป็นโรงงานสร้างแบรนด์ได้เลย เกษตรกรต้องมองข้ามไปสู่จุดนี้ให้ได้ และต้องคิดให้จบตั้งแต่การผลิต การแปรรูป ไปจนถึงการขาย

เกษตรกรรุ่นใหม่ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

เกษตรกรรุ่นใหม่ ถ้าไปทำแบบเดิมจะไม่ไหว คือ สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ร้อนจัด ฝนแล้ง ฝนตกหนัก การทำเกษตรต้องให้ไวและสบาย ไม่เหนื่อยมาก ให้ไว คือ ทันต่อฤดูกาลทันต่อช่วงเวลา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การใช้โดรนในการฉีดพ่นจุลินทรีย์เพื่อการเกษตร ซึ่งการฉีดพ่นจุลินทรีย์ต้องทำ ในช่วงเช้า กับช่วงเย็น ในระดับพื้นที่ 50 ไร่ ถ้าเรายังใช้วิธีเดินฉีดพ่นก็จะมืดเสียก่อน พอเราใช้โดรน บินรอบหนึ่งแป๊บเดียวได้ 10 ไร่ และฉีดได้ทั่วถึง ระบบคอมพิวเตอร์ทำงานให้บินไปและกลับเอง มีความละเอียดแน่นอน จะใช้บินสำรวจแปลงก็ได้

drone

     ผมคิดว่าการเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องไฮเทคหรือใช้เทคโนโลยีมากเกินไป แค่ว่าปลูกอะไรก็ได้ตรงกับความต้องการและช่วงเวลาที่ตลาดต้องการ  ปลูกกล้วยหอมให้ออกตรงวันตรุษจีน หรือวันไหว้เจ้า และต้องรู้จักปรับเปลี่ยนให้ทัน เช่น หน้าฝนจะปลูกอะไร ปลูกผักสลัดก็ลำบาก แต่ความต้องการผักมี ก็ไปปลูกผักบนแคร่หรือในโรงเรือน ที่สามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมได้ตลอด ทำระบบควบคุม การมอนิเตอร์ การดูอากาศ ความชื้น และการจดบันทึก เราก็เอาชนะธรรมชาติสามารถปลูกพืชได้

อ่านต่อ ตอนที่ 2 >>