( ตอนที่ 2 )
ทิศทางการพัฒนาภาคการเกษตรในอนาคต
ทิศทางการพัฒนาภาคการเกษตรในอนาคต การตลาดควรต้องนำการผลิต สินค้าต้องมีมาตรฐาน มีความปลอดภัย มีการเชื่อมโยงระบบต่างๆ และมีการพัฒนาระบบขนส่ง (โลจิสติกส์) เกษตรกรต้องทำการตลาดนำการผลิต ต้องรู้ว่าปลูกอะไรแล้วจะไปขายให้ใคร ไม่ใช่ว่าปลูกตามๆ กันไป อย่างนี้ไม่ใช่ 4.0 เช่น พอมีการทำเกษตรแปลงใหญ่ ถ้าผลผลิตออกตรงตามที่ตลาดต้องการก็ดี แต่ถ้าผลผลิตไม่ออกตามโควตาที่รับมา ก็ลำบาก และถ้าผลผลิตอย่างเดียวกันออกมาเยอะในช่วงเวลาเดียวกันราคาก็ตก แทนที่เกษตรกรจะรวย ก็อาจจะขาดทุนได้
ความปลอดภัยของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคสินค้าเกษตร เป็นเรื่องที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สมาชิกในเครือข่าย YSF ที่เข้ามาในปี 60 บางคนมีพ่อ แม่ หรือญาติพี่น้องเสียชีวิตจากการใช้สารเคมี ความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งความปลอดภัยกับตัวเกษตรกรเอง และปลอดภัยกับผู้บริโภค สารเคมีมันน่ากลัวมาก เกษตรกรบางคนยังมีความเข้าใจอยู่ว่า ต้องใส่ปุ๋ยโชกๆ ชุ่มๆ เยอะๆ ฉลากเขียนมาให้ใส่แค่ 2 ช้อน น้ำ 20 ลิตร แต่เกษตรกรก็บอกว่าจะไปพออะไร แล้วก็ใส่ทุกอย่างในปริมาณมากขึ้น บางครั้งใส่หลายชนิดรวมกัน แล้วฉีดพ่น ทั้งๆ ที่เราสามารถใช้สารชีวภัณฑ์หรือสารเคมีที่ไม่อันตรายได้ เช่น การนำ หัวน้ำส้มสายชูผสมน้ำไปฉีดเพลี้ยไฟมันก็ตายแล้ว ส่วนเพลี้ยแป้ง แค่ใช้กากกาแฟ กะทิ ยาฉุน ยาเส้น ก็จัดการได้แล้ว ต้นทุนก็ถูกกว่า และมีความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค
เกษตรกรจะอยู่ได้ต้องแข่งในสิ่งที่ยังขาดอยู่ คือเรื่องของ “มาตรฐานสินค้าเกษตร”โดยเฉพาะด้านเกษตรอินทรีย์ ง่ายที่สุดคือการรับรองแบบเครือข่ายหรือแบบกลุ่มที่เรียกว่าการรับรองระบบเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System : PGS) ซึ่งเป็นการรับรองเชิงสร้างสรรค์ รับรองกันเองในกลุ่มเครือข่ายผู้ปลูก ผู้ผลิต และเพื่อนบ้าน แต่ต้องไม่ใช่คนที่อยู่บ้านเดียวกัน รับรองกันเอง มีการออกกฎกติกาและออกโลโก้กันเอง สากลทั่วโลกทำกันแบบนี้ โดยเฉพาะการขายในระดับชุมชนหรือจังหวัด อย่างผมไปดูหรือผ่านแปลงเกษตรของเพื่อนบ้านทุกวัน และมีการตรวจแปลงตามระยะเวลาที่กำหนด ดีกว่าเสียค่าจ้างเป็นหมื่นให้ต่างประเทศมาตรวจแค่ปีละครั้ง
พอสินค้ามีมาตรฐานรับรองลูกค้าก็จะมาหาเอง อย่างเพื่อนผมเขาทำลำไยอินทรีย์อยู่ที่ลำพูน ขณะที่เจ้าอื่นยังไม่ได้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เขาก็ขายได้ในราคาสูง ถ้ายังคิดว่าต้องใช้สารเคมีเยอะๆ ทำให้ได้ปริมาณมากๆ แต่คุณภาพยังไม่ปลอดภัยกับผู้บริโภค อย่างนี้จะอยู่ลำบาก ถ้าเขาทำเป็นแนวอินทรีย์ มีมาตรฐานรับรอง เขาจะมีตัวตน สินค้ามีความชัดเจน มีอัตลักษณ์ของตัวเอง มีจุดขาย ยังไงลูกค้าต้องวิ่งมาหาเขา ถ้าเขามีมาตรฐานตัวนี้นำก่อน แล้วค่อยขยับมาเป็นมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อื่นๆ เช่น Organic Thailand ก็จะไปได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ เรื่องโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าเกษตรจากแหล่งผลิตถึงมือผู้บริโภค เป็นเรื่องสำคัญที่สุด อย่างเช่น สตรอว์เบอร์รีที่ปลูกอยู่บนดอย ทำอย่างไรให้ถึงมือผู้บริโภคแล้วไม่ช้ำ ต้องเก็บแบบคัดแยก แล้วแพ็คมาจากไร่ การขนกล้วยจากไร่ถ้าใช้รถแทรคเตอร์วิ่งกระเทือนกว่าจะถึงก็ช้ำ ขายไม่ได้ จากเหนือ ใต้ ออก ตก ถ้าต้องการเอามาขายส่วนกลาง ต้องมีการขนส่ง ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น สิ่งที่เกษตรกรจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ คือการทำตลาดในพื้นที่ เราถึงทำ YSF Farm Shop เป็นการติดชื่อไว้เพื่อให้คนได้รู้จัก ในอนาคตเราอยากให้แต่ละจังหวัดมี YSF Farm Shop เพื่อรับสินค้าของสมาชิกในเครือข่าย
เกษตรกรยุคใหม่ต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ความคาดหวังเกี่ยวกับการพัฒนาเกษตรกรรมยุคใหม่ที่จะเป็นอนาคตของประเทศไทย ผมอยากให้ภาคการเกษตรมีมากขึ้น ผลิตอาหารที่ดี มีคุณภาพให้กับผู้บริโภค ผมเสียดายพื้นดินของบ้านเราที่อุดมสมบูรณ์ แต่ไปอยู่กับนายทุน ทิ้งไว้ว่างเปล่า ทำลายระบบนิเวศน์ แหล่งน้ำหายไป อากาศเปลี่ยน โลกร้อนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม คนที่จะทำการเกษตรต้องมีใจรัก สิ่งที่ขาดที่เห็นได้ชัดเลยของประเทศเราก็คือ ไม่ได้รับการปลูกฝัง ขณะที่ต่างประเท
ศเขาปลูกฝังให้รักการเกษตรตั้งแต่เด็ก และความมีวินัยของคนไทยกับคนประเทศอื่นก็แตกต่างกัน เกษตรกรที่จนอยู่เพราะอะไร นับกันจริงๆ ทำ งานแค่ปีละ 100 วัน ที่เหลือไม่ได้ทำงาน เกษตรกรจริงๆ ถ้าขยันไม่จนแน่นอน ผมคิดว่าเกษตรยุคใหม่ต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง